วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แนะนำสไตล์การเรียนรู้

สไตล์การเรียนรู้ หมายถึงว่าจะเรียนรู้ได้อย่างไร (How) จากไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล  เราจะได้พิจารณาถึงความโน้มเอียงของแต่ละบุคคลว่ามีการเรียนรู้แบบใด โดยการใช้รูปแบบของซิลเวอร์และแฮมสันเป็นฐาน  เราจะนำลักษณะความโน้มเอียงในการรับรู้และตัดสินใจมาใช้เป็นรูปแบบของการเรียนรู้  ซึ่งซิลเวอร์และแฮมสันได้แบ่งสไตล์การเรียนรู้ตามพื้นฐานความแตกต่างของบุคลิกภาพเป็น 4 แบบ
 ได้แก่  แบบมุ่งความชำนาญ (Mastery Style)  แบบมุ่งความเข้าใจ (Understanding Style)  แบบมุ่งการแสดงออก (Self – Expressive Style) และแบบมุ่งมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Style) โดยแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้
           1. แบบมุ่งความชำนาญ หรือผู้เรียนประเภท (Mastery Style)
               ผู้เรียนประเภทนี้จะเป็นนักปฏิบัติ เห็นโลกตามความเป็นจริง เป็นผู้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ชอบทำมากกว่าพูด มีพลังในการทำงาน มีเหตุผล ทำในสิ่งที่ได้ผลและมีประโยชน์ จะทำงานอย่างมีระบบ และตั้งใจทำงานให้เสร็จ ชอบการเรียนวิชาที่มีการปฏิบัติจริง ไม่สนใจด้านความคิดหรือตัวบุคคล ชอบทำงานให้เสร็จและรู้ผลทันที ชอบการกระทำที่มีการเคลื่อนไหวมากกว่าการนั่งฟังผู้อื่นหรือทำงานนั่งโต๊ะผู้เรียนประเภทนี้จะถามว่า “อะไร” “อย่างไร” และชอบการอธิบายการกระทำที่เป็นขั้นตอน และจะขาดความอดทนต่อการอธิบายยืดยาว ผู้เรียนต้องการรู้อย่างชัดเจนว่าจะให้ทำอะไร อย่างไร และเมื่อใด และจะขาดความสนใจทันทีถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นช้าอืดอาด หรือไม่มีประโยชน์ใช้สอย
               แนวในการเรียนรู้ : ผู้เรียนประเภทนี้ต้องการสิ่งแวดล้อมที่เน้นการฝึกทักษะ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล โอกาสที่จะได้ใช้ข้อมูลมาปฏิบัติจริง และโอกาสที่จะได้สาธิตความรู้ของตน ชอบแบบฝึกหัดที่มีคำตอบถูกหรือผิดชัดเจน ไม่ชอบคำถามประเภทปลายเปิด หรือคำถามที่ให้ตีความ ผู้เรียนจะชอบการแข่งขัน การให้คะแนน ให้ดาว เพราะผู้เรียนประเภทนี้ต้องการเรียนรู้เพื่อให้ได้ข้อมูลและทำได้จริง
           2. แบบมุ่งความเข้าใจ หรือผู้เรียนประเภทญาณหยั่งรู้ – คิด (Understanding Style)
               ผู้เรียนประเภทนี้เป็นนักคิด นักสร้างทฤษฎี เน้นความรู้และวิชาการ สนใจแนวคิดต่าง ๆ ชอบปัญหาที่ยากท้าทายและมีความอดทนในการรอผลได้นาน จะทำงานได้ดีตามลำพังหรือทำงานกับผู้ที่มีลักษณะ “คิด” เช่นเดียวกันเวลาทำงานไม่ชอบให้มีการเร่งรัดหรือบีบบังคับด้วยเวลา จะไม่สนใจให้มีการประเมินงานจนกว่างานจะทำแล้วเสร็จ ผู้เรียนประเภทนี้จะมีความอดทนและมุ่งมั่นในการทำงานที่สนใจ และไม่คำนึงถึงเวลา จะเป็นนักอ่าน วิธีการหาข้อมูลจะใช้สัญลักษณ์ ตัวหนังสือ รูปภาพ ผู้เรียนประเภทนี้จะมีความสามารถในการใช้ภาษาอธิบายและแสดงความคิด ชอบอภิปรายหาแหตุผลและข้อมูลมาขัดแย้ง
              แนวในการเรียนรู้ : ผู้เรียนประเภทนี้จะเรียนรู้เรื่องที่เป็นระบบ มีเหตุมีผล ชอบจัดระบบงานและบุคคล เป็นนักวางแผนที่ใช้เวลาเพื่อการเตรียมงาน
           3. แบบมุ่งการแสดงออกหรือผู้เรียนประเภทญาณหยั่งรู้ – รู้สึก (Self – Expressive Style)
               ผู้เรียนประเภทนี้มีความใฝ่รู้มีจินตนาการ และมีความเข้าใจลึกซึ้ง กล้าที่จะคิดฝัน และยึดมั่นในค่านิยม คุณค่า มีความเปิดกว้างต่อทางเลือกใหม่ ๆ มีแรงจูงใจในการเรียนจากความสนใจของตนเอง เรื่องใดที่ไม่สนใจจะทำอย่างไม่ตั้งใจหรือลืมไปเลย ถ้างานใดเป็นที่สนใจก็จะทำจนลืมเวลา จะไม่ชอบทำงานภายใต้กฎเกณฑ์หรือตารางเวลาที่เข้มงวด ชอบเป็นเอกเทศและไม่ชอบอยู่ใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ และไม่กลัวที่จะแตกต่างหรือแปลกกว่าคนอื่น ยอมรับสิ่งที่ไร้เหตุผล ไม่ล้อมกรอบตนเองด้วยประเพณี มีความรู้สึกไวต่อความงามความสมดุล และมีความสนใจด้านสุนทรียภาพ จะมีความยืดหยุ่นในการคิดและการกระทำ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ จะชอบสิ่งแวดล้อมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จะไม่เดือดร้อนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตร จะชอบทำงานที่ไม่ต้องมีการสั่งหรือแนะนำมากเกินไป การทำงานของผู้เรียนประเภทนี้ จะดูรกรุงรังวุ่นวายในสายตาของผู้เรียนประเภทมุ่งความชำนาญ และมุ่งความเข้าใจ ผู้เรียนประเภทมุ่งแสดงออกจะเริ่มงานทีละหลาย ๆ งาน และจะย้ายจากงานนี้ไปงานนั้นตามความสนใจ เพราะฉะนั้นผู้เรียนประเภทนี้จะทำงานไม่เสร็จครบทุกงานที่ตั้งต้นไว้ การที่เรียกผู้เรียน
               แนวในการเรียนรู้ : ผู้เรียนประเภทนี้จะมีความสนใจกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ๆ ชอบและสนใจอภิปรายปัญหา ความคิดขัดแย้งด้านจริยธรรม มีความสนใจกว้างขวาง ชอบกิจกรรมที่จะมีโอกาสได้แสดงแนวคิดจินตนาการแปลก ๆ ไม่ชอบคำถาม
พื้น ๆ ชอบคำถามปลายเปิด เช่น “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า......”
          4. มุ่งมนุษยสัมพันธ์หรือผู้เรียนประเภทผัสสะ – รู้สึก (Interpersonal Style)
              ผู้เรียนประเภทนี้ของสังคม มีความเป็นมิตร ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่นและตน สนใจเรียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากกว่าเรื่องที่เป็นทฤษฎีวิชาการ ชอบคุยชอบคิดดัง ๆ จะเรียนได้ดี ถ้ารู้สึกสบายใจและไม่เครียด จะชอบการร่วมมือกันทำงาน ไม่ชอบการแข่งขันและต้องการคำยกย่องชมเชยในการทำงานของตน จะรู้สึกอย่างรุนแรงต่อความชอบไม่ชอบของผู้อื่นที่มีต่อตน จะทำงานให้เสร็จเพื่อเอาใจผู้อื่นมากกว่าทำด้วยความสนใจของตนเอง
คำถามที่ผู้เรียนประเภทนี้จะถามคือ “ แล้วเรื่องนี้มีคุณค่าต่อฉันอย่างไร ? ” เวลาเรียนจะสัมพันธ์กับเรื่องที่เรียนกับประสบการณ์ของตนจะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้สูง ถ้าให้เล่าเรื่องความรู้สึกและเกตุการณ์ในอดีตของตน และถ้าเรื่องที่เรียนไม่เกี่ยวกับมนุษย์หรือเรื่องราวในชีวิตจริงผู้เรียนประเภทนี้จะเบื่อและหันไปคุยกับเพื่อน
              แนวในการเรียนรู้ : ผู้เรียนประเภทนี้จะเรียนได้ดี ถ้ารู้สึกว่ามีอารมณ์ มีความรู้สึกว่าสัมพันธ์กับตน มักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองทันทีโดยไม่ยั้งคิด ถ้ารู้สึกว่าถูกต้อง จะสนใจรับฟังผู้อื่นและช่วยเหลือผู้อื่น แต่ก็ต้องการให้การกระทำของตนเป็นที่ยอมรับด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น