วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การใช้สระในภาษาไทย

         การใช้สระในภาษาไทยให้ถูกต้องนั้น เราควรศึกษาเรียนรู้ เพราะสระแต่ละตัวมีหลักเกณฑ์ในการเขียนต่างกัน สระบางตัวเมื่อมีตัวสะกดก็จะเขียนแตกต่างไปจากเมื่อไม่มีตัวสะกด บางสระจะลดรูป บางสระจะเปลี่ยนรูป แต่บางสระจะคงรูปเช่นเดิม
ดังที่กำชัย ทองหล่อ (2540 : 69 –70) ได้อธิบายไว้ดังนี้
         1.คงรูป คือ ต้องเขียนรูปให้ปรากฏชัด เช่น กะบะ กะปิ ไปไหน ทำไม
         2.ลดรูป คือ ไม่ต้องเขียนรูปสระให้ปรากฏหรือปรากฏแต่เพียงบางส่วน แต่ต้องออกเสียงให้ตรงกับรูปสระที่ลดนั้น การลดรูปมี 2 อย่าง คือ
              2.1 ลดรูปทั้งหมด ได้แก่ พยัญชนะ + สระโอะ + ตัวสะกด (ยกเว้นตัว ร) เช่น
                          น + โ_ะ + ก = นก
                          ม + โ_ะ + ด = มด
                          ก + _อ + ร - สะกด = กร
                          จ + _อ + ร -สะกด = จร
             2.2 ลดรูปบางส่วน ได้แก่ สระที่ลดรูปไม่หมด เหลือไว้แต่เพียงบางส่วนของรูปเต็มพอเป็นเครื่องสังเกตให้รู้ว่าไม่ซ้ำกับรูปอื่น เช่น
                         ก + เ_อ + ย- สะกด = เกย (ลดรูปตัว อ เหลือแต่ไม้หน้า)
                         ก + _ั ว + น- สะกด = กวน (ลดไม้หันอากาศ เหลือแต่ตัว ว)
        3.แปลงรูป คือ แปลงสระรูปเดิมให้เปลี่ยนเป็นอีกรูปหนึ่ง เช่น
                         ก + _ะ + น – สะกด = กัน (แปลงวิสรรชนีย์ เป็นไม้หันอากาศ)
                         ก + เ_ะ + ง – สะกด = เก็ง (แปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้)
                        ข + แ_ะ+ ง – สะกด = แข็ง (แปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้)
                        ด + เ_อ + น – สะกด = เดิน (แปลง อ เป็น พินทุ์อิ)
         จะเห็นได้ว่าสระเมื่อมีตัวสะกด แต่ละสระจะมีวิธีการเขียนที่แตกต่างกันไป มีทั้งคงรูป เช่น รีบ จูง เป็นต้น เปลี่ยนรูป เช่น เก็บ เปิด เป็นต้น และลดรูป เช่น นก ชวน เป็นต้น บางสระสามารถเป็นได้ทั้งสระลดรูปและสระเปลี่ยนรูป เช่น สระ “เออ” เมื่อมีตัวสะกดในทุกมาตรา ยกเว้นมาตราแม่เกย “อ” จะเปลี่ยนรูปเป็น “พินทุอิ” เช่น เกิด เดิน เชิญ เป็นต้น แต่เมื่อมีตัวสะกดในมาตราแม่เกย “อ” จะลดรูปหายไป เช่น เนย เคย เลย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น