วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้จัก..อักษรควบ

รู้จัก..อักษรควบ
อักษรควบ คือ พยัญชนะต้น ๒ ตัว ประสมอยู่ในสระเดียวกัน และเสียงพยัญชนะควบกล้ำในภาษาไทยจะอยู่ได้ในตำแหน่งต้นพยางค์เท่านั้น โดยพยัญชนะตัวที่สองจะต้องเป็น ร ล ว เท่านั้น
ได้แก่ กว กร กล ขล ขร ขว คล คร คว พร พล ปร ปล ตร ส่วนพยัญชนะควบกล้ำที่อยู่ต้นพยางค์ที่ไทยเรารับมาจากภาษาต่างประเทศก็มี ทร ฟร ฟล บร บล ดร
อักษรควบ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
              ๑. อักษรควบแท้ หมายถึง คำที่มีพยัญชนะต้น ๒ ตัว โดยพยัญชนะตัวที่สอง คือ ร ล ว ประสมอยู่ในสระตัวเดียวกัน เวลาอ่านออกเสียงต้องอ่านออกเสียงพยัญชนะทั้ง ๒ ตัวพร้อม ๆ กัน
ส่วนเสียงวรรณยุกต์นั้นให้ออกเสียงตามพยัญชนะต้นตัวแรก เช่น
                        กราน       กวาง
                        กลม        กลิ้ง
                        กวาด      กร้าว
                        ความ      เคว้ง
                        คลุ้ง        เขวง   เป็นต้น

              ๒. อักษรควบไม่แท้ หมายถึง คำที่มีพยัญชนะต้น ๒ ตัว โดยพยัญชนะตัวที่สองเป็น ร อยู่ร่วมในสระตัวเดียวกัน แต่เวลาอ่านออกเสียงจะออกเสียงได้ ๒ แบบ คือ
                        ๒.๑ ออกเสียงพยัญชนะตัวแรกเพียงตัวเดียว เช่น
                                    จริง    อ่านว่า   จิง
                                    สร้าง อ่านว่า   ส้าง
                                    เศร้า  อ่านว่า   เส้า
                                    ไซร้   อ่านว่า  ไซ้
                        ๒.๒ ออกเสียงเป็น ซ ในกรณีที่พยัญชนะต้นเป็น ทร เช่น
                                    ไทร     อ่านว่า  ไซ
                                     ทราบ อ่านว่า   ซาบ
                                     ทราย อ่านว่า   ซาย
                                    โทรม  อ่านว่า   โซม

              ข้อควรรู้   มีคำในภาษาไทยจำนวน ๓ คำเท่านั้นที่ออกเสียง ทร เป็นอักษรควบแท้ ได้แก่
                                    จันทรา  อ่านว่า  จัน - ทรา
                                    นิทรา    อ่านว่า  นิด - ทรา
                                    อินทรา อ่านว่า  อิน - ทรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น